รีวิวหนังสือ เงิน 4 ชีวิต กุญแจสู่อิสรภาพทางการเงิน

By KDBEER | Last updated Jan 31, 2021
รีวิวหนังสือ-เงิน-4-ชีวิต-กุญแจสู่อิสรภาพทางการเงิน-60168e0f7d58b8115aa4d59b

ข้อคิดจากหนังสือ เงิน 4 ชีวิต

ถ้าว่าตามประวัติศาสตร์ของโลกแล้ว เริ่มจากการใช้ของ แลกของ แล้วเปลี่ยนมาเป็นทอง และก็เปลี่ยนมาเป็นธนบัตร จะเห็นว่าชีวิตเราเกี่ยวข้องกับเงินทั้งนั้น

ถึงจะมีใครที่บอกว่า ใช้เงินตามสมถะ แต่พอถ้าเจ็บป่วยมา ก็ต้องไปหาหมอ ก็ต้องใช้เงินอยู่ดี เมื่อมีลูกหลานต้องส่งเขาเรียน ก็ต้องใช้เงินอยู่ดี หรือถ้าต้องการความสะดวกสบาย ความสมบูรณ์พูนผลในชีวิต การจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องใช้ "เงิน" อีกเหมือนกัน

จะเห็นว่าความสะดวกสบายนี้ แลกมาด้วยเงิน จึงมีนวัตกรรมทางการเงินมากมาย ที่ให้เราได้ของต่างๆ มาโดยง่าย เช่น เราสามารถซื้อรถราคา 1 ล้านบาท ในราคา 250,000 บาท ซึ่งนวัตกรรมพวกนี้แหละ ที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง ผู้ที่รู้ไม่เท่าทัน ก็ย่อมจะตกเป็นเหยื่อของคนฉลาดอยู่ร่ำไป

เงินนั้นมีการเดินทางอยู่เสมอ เงินมันมีชีวิตของมัน เมื่อเงินเข้ามาหาเรา มันก็เหมือนเด็กทารก ถ้าเราเลี้ยงดูมันอย่างดี มีวินัยเก็บออมรู้จักใช้จ่าย เงินก็อยู่กับเรานานมากขึ้น การออมเงินในสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ย ก็เหมือนกับการเลี้ยงเด็กเล็กให้เติบโตมากขึ้น แต่ถ้าเงินเข้ามาแล้ว เราไม่รู้จักเก็บ ไม่รู้จักใช้ และปล่อยให้มันผ่านไป ก็เท่ากับว่าเราไม่มี แม้แต่เด็กทารกที่จะทำงานให้เรา เมื่อเราต้องการได้

 

เงิน 4 บุคลิก

เงินเจ้านาย

ในช่วงเริ่มแรกของการทำงาน เงินมักจะเป็นนายเรา คือเราต้องทำงาน เพื่อให้ได้เงินมา ไม่ทำก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่มุ่งมั่นหาเงิน หรือหามาได้แล้ว ไม่สำรองไว้ใช้จ่าย ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน เห็นเงินเป็นพระเจ้า และทำทุกเพื่อให้ได้เงินมา ยอมรับซะว่า นั่นคือ "เงินเจ้านาย"

อย่างที่บอกไว้ ว่าช่วงแรกของการทำงาน เงินมักจะเป็นนาย แต่เราสามารถข้ามขั้นนี้ไปได้ ด้วย "กฎการเงิน 9/1" คือแบ่งเงินที่หามาได้ (ทุกครั้ง) ออกเป็น 10 ส่วน

4 ส่วน คือค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ เช่น ค่ากิน ค่าเช่า/ผ่อน ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ

3 ส่วน ค่าใช้จ่ายเพื่อการทำงาน เช่น รถไฟฟ้า อุปกรณ์การทำงาน หรือค่าอาหารเมื่อสำคัญถ้าต้องเข้าสังคม

1 ส่วน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ให้รางวัลตัวเอง

1 ส่วน เงินสดสำรอง เป็นค่ารักษาพยาบาล หรือ วิกฤติที่ไม่คาดคิด

1 ส่วน เงินเพื่อการลงทุน

เงินเป็นเพชฌฆาต

เงินเพชฌฆาต คือลูกน้องผู้ซื่อสัตย์ของเงินเจ้านาย เพราะไอ้ความอยากได้อยากมี มักจะทำให้คนหลงในเสน่ห์ของเงิน ทำให้ใช้จ่ายเกินตัว เมื่อพลาดพลั้งสะดุด หาเงินไม่ได้ ใช้หนี้ไม่ทัน "เงินเพชฌฆาต" จะมาหาคุณทันที และฆ่าฟันคุณอย่างไร้ความปรานี มักจะเกิดกับคนที่ไม่มีนิสัยออมเงิน ไม่มีการวางแผนชีวิต หรือมีปัญหาทางการเงินตลอดเวลา หรือคนที่ชอบใช้เงินล่วงหน้า (บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด) และเงินอนาคต (ผ่อนสินค้า กู้ยืม ใช้เงินที่ไม่ใช่ของเรา)

เงินเพื่อนแท้ที่ดี

เมื่อหักลบ รายรับ รายจ่าย แล้วพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง การมีเงินเก็บก็เหมือนมีเพื่อนที่ดีอยู่ข้างกาย อยากกินอะไรก็กิน อย่างไปเที่ยวก็เที่ยวได้อย่างสบายใจ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็มี "เงินเพื่อนแท้" คอยช่วยเหลือ

นี่คือนิยามของเงินเพื่อนแท้ แต่การที่จะมีเพื่อนแท้ที่ดีได้ ก็ต้องรู้จักหักห้ามใจ รู้จักใช้ รู้จักเก็บ ด้วย "กฎการเงิน 9/1" อย่างเคร่งครัด และอาจจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปทำประกัน เพื่อป้องกันสุขภาพและทรัพย์สิน เพียงเท่านี้ก็จะมีความสุขมากขึ้น และมี "เงินเพื่อนแท้" คอยอยู่เคียงข้างปกป้องคุณ

เงินเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์

เมื่อเราเข้าใจเงินแล้ว และรู้วิธีควบคุมเงิน เราก็จะก้าวมาเป็น เจ้านายของเงิน ให้เงินทำงานแทนเรา 356 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง มันทำซ้ำๆ ไปมากพอ "อิสรภาพทางการเงิน (Financial Independence) " ก็จะเป็นของเรา

จาก "กฎการเงิน 9/1" เราจะเหลือ 1 ส่วนมาใช้ในการลงทุน ต้องใช้ความรอบคอบและรู้ข้อมูลของสิ่งที่จะลงทุนอย่างแท้จริง กลยุทธ์ที่หนังสือเล่มนี้ ชี้แนะนำมาคือ "กฎแห่งเงินลงทุน 3/1"

ส่วนที่ 1 ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง (ผลตอบแทน 15 - 40% ของเงินลงทุน) แต่ความเสี่ยงก็สูง ได้แก่ ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ เช่น SET Index, SET 100 และตลาดเงิน เช่น ตลาดซื้อขายเงินดอลลาร์ เงินยูโร เป็นต้น

ส่วนที่ 2 ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนปานกลางถึงสูง (ผลตอบแทน 10 - 30% ของเงินลงทุน) ลงทุนในกิจการต่างๆ เช่น เปิดร้านขายอาหาร ร้านกาแฟ ขายของ หรือเลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น SET 50 ที่มีความมั่นคง และปันผลสูง (โดยถือหุ้นระยะยาวไม่น้อยกว่า 6 เดือน) เป็นต้น

ส่วนที่ 3 ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนปานกลาง (ผลตอบแทน 7 - 15% ของเงินลงทุน) แต่ความเสี่ยงต่ำกว่า 2 ส่วนข้างบน ได้แก่ ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 3 - 10 ปี กองทุนทองคำ หรือถือในหุ้น SET 50 ที่ปันผลสม่ำเสมอทุกปี

ส่วนที่ 4 ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำ มีความเสี่ยงต่ำ และมีความผันผวนน้อย ได้แก่ ทองคำแท่ง เพราะไม่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม หรือพันธบัตรรัฐบาล ระยะยาว 7-10 ปี เป็นต้น

เมื่อเงินเริ่มทำงาน ก็จะดึงดูดเพื่อนเงินของมันเข้ามาตลอดเวลา เพื่อให้เจ้านายของมัน ซึ่งก็คือเรา ก้าวไปสู่อิสรภาพทางการเงินในที่สุด

คาถาเรียกเงิน "อุ อา กะ สะ"

ท่องไปเลย เช้า 9 รอบ เย็น 9 รอบ รวยชัวร์!!

ล้อเล่น 555 ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ท่องให้ตายก็ไม่ได้ประโยชน์หรอก

พระพุทธเจ้า ทรงแสดงพระคาถา "หัวใจมหาเศรษฐี" ไว้เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ดังนี้

อุ : อุฏฐานสัมปทา ขยันหมั่นเพียร หมั่นหาความรู้ ฝึกฝนให้ชำนาญ ขยันทำงานและทำอาชีพสุจริต และใช้ปัญญาแก้ปัญหา ซึ่งการทำงานนี้เอง จะทำให้ทรัพย์สิน เพิ่มพูนขึ้น

อา : อารักขสัมปทา รักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้หมดไป และรักษาชื่อเสียงที่สั่งสมมา ไม่ให้เสื่อมเสีย รบผิดชอบการงานอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

กะ : กาลยาณมิตตา คบคนเป็นมิตร คบคนที่จะพาเราก้าวหน้า ทั้งหน้าที่การงาน และความสุขในการใช้ชีวิต

สะ : สมชีวิตา คือการเลี้ยงชีพให้พอดี รู้จักกำหนดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะ ไม่ฟุ่มเฟือยจนลำบากในอนาคต หรือ ไม่ฝืดเคืองจนสร้างความลำบากในอนาคต

ยังมีอีกหลายสิ่งที่หนังสือเล่มนี่สอน ถ้าสนใจ ก็อย่าลืมไปซื้อมาอ่านนะครับ